ธุรกิจคุณกำลังติดอยู่ใน Red Ocean หรือเปล่า ? รู้จักกลยุทธ์การตลาดชนะการแข่งขัน
การแข่งขันในตลาดธุรกิจที่ดุเดือดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในตลาดแบบ Red Ocean ที่เต็มไปด้วยคู่แข่งที่ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่อย่างจำกัด คำว่า “Red Ocean” มักถูกใช้เพื่อเปรียบเทียบกับสภาพตลาดที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ที่ดุเดือดราวกับอยู่ในน่านน้ำสีแดงของการต่อสู้ทางธุรกิจ
Metier จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจในธรรมชาติของ Red Ocean พร้อมบอกกลยุทธ์การตลาด (Red Ocean Strategy) ที่จะช่วยให้ SMEs ไทยสามารถยืนหยัดได้ในสภาพแวดล้อมนี้
Red Ocean หรือ ตลาดน่านน้ำสีแดง คืออะไร ?
คำว่า Red Ocean คือภาษาทางธุรกิจที่ใช้ในเชิงของการเปรียบเปรยตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยธุรกิจต้องต่อสู้เพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากตลาดที่มีอยู่ ในขณะที่พื้นที่ของตลาดยังคงเท่าเดิม ซึ่งนำไปสู่การตัดราคา การลดราคา และการสร้างความแตกต่างในสินค้าเพื่อรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ ซึ่งถือเป็นสิ่งท้าทายที่ธุรกิจจะต้องประสบเมื่อเข้ามาอยู่ในตลาด
ในทางกลับกันยังมีอีกหนึ่งตลาด ที่ชื่อว่า “Blue Ocean” หรือ ตลาดน่านน้ำสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นขั้วตรงข้าม โดยเป็นตลาดที่เน้นสร้างความประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค การแข่งขันในตลาดนี้จึงไม่รุนแรงมากนัก โดยตลาด Blue Ocean มักมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่าเดิม
ถึงแม้ว่าการอยู่ใน Red Ocean จะมีความท้าทายที่มากกว่า แต่ธุรกิจในตลาดนี้ก็ประสบความสำเร็จได้หากมีการวางแผนที่รอบคอบ และมีการวางแผนกลยุทธ์การตลาดที่ดี
Metier จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจถึง 4 วิธีเอาตัวรอดด้วยกลยุทธ์การตลาด ที่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อให้ธุรกิจของคุณเป็นอันดับหนึ่งในตลาดและยืนอยู่ในตลาดได้เหนือคู่แข่ง
1. การสร้าง Branding ให้มีเอกลักษณ์
หนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่ทำให้ธุรกิจสามารถโดดเด่นได้คือ การสร้างแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์และแข็งแกร่ง การทำ Branding ที่ดี ไม่เพียงแต่สร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ แต่ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ เพราะเมื่อแบรนด์มีเอกลักษณ์ มีตัวตนที่ชัดเจนจะช่วยให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ และกลายเป็น First of Mind เมื่อลูกค้านึกถึง
ธุรกิจ SMEs จึงควรเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมาย (Mission) และคุณค่า (Core Value) ของแบรนด์ให้ชัดเจน เช่น การเน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการมุ่งมั่นในนวัตกรรม สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้แบรนด์สามารถสร้างความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในระยะยาว
ตัวอย่างเช่น แบรนด์เสื้อผ้า Patagonia แบรนด์เสื้อผ้าที่ใช้กลยุทธ์การตลาดด้วยการสร้างเอกลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อม แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านแคมเปญ “DON’T BUY THIS JACKET” ซึ่งสื่อถึงปัญหาการบริโภคเครื่องนุ่งห่มที่เกินความจำเป็นในสังคม รวมไปถึงค่านิยมหลักของแบรนด์ยังเน้นในเรื่องของการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด ให้บริการที่ดีที่สุด โดยจะต้องมีประโยชน์ มีความอเนกประสงค์ ทนทาน ซ่อมแซม และรีไซเคิลได้ และแบรนด์ยังมอบยอดขายร้อยละ 1 ให้กับองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้นำไปพัฒนาเรื่องความยั่งยืนต่อไป
จากค่านิยมหลักของแบรนด์ Patagonia ได้สร้างความรู้สึกเชื่อมั่นและความประทับใจให้ผู้บริโภค พร้อมกับเสริมภาพลักษณ์ความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลยุทธ์การตลาดนี้ได้สร้างจุดแข็งที่ทำให้ Patagonia ยืนหยัดในตลาดจนถึงทุกวันนี้
2. พัฒนาสินค้าให้โดดเด่น ทันเทรนด์การตลาด (Product Killer)
สินค้าที่มีการแข่งขันใน Red Ocean ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสินค้าหรือบริการที่ไม่แตกต่างกันมากนักหรือสามารถที่จะมาแทนที่กันได้ ดังนั้น หากต้องการให้สินค้าของเราโดดเด่นเหนือคู่แข่ง จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น การเข้าใจปัญหา (Pain Points) ของลูกค้าเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการพัฒนาสินค้า โดยไม่เพียงแค่ต้องดีกว่าคู่แข่ง แต่ยังต้องนำเสนอคุณค่า (Value) ที่ใหม่และแตกต่าง เพื่อสร้างความได้เปรียบในตลาด
การติดตามเทรนด์และการเปลี่ยนแปลงของตลาดจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่เหมาะกับวิถีชีวิตยุคใหม่ หรือการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มคุณค่าของสินค้า
หนึ่งแบรนด์ที่น่าสนใจคือ Dyson ซึ่งแบรนด์ในตลาดทั่วไปมักจะแข่งขันเรื่องราคาที่ย่อมเยาและฟังก์ชันพื้นฐานสามารถใช้งานได้ทั่วไป แต่ Dyson เลือกที่จะสร้างความแตกต่าง โดยการสร้างเครื่องดูดฝุ่นที่ใส่ใจในปัญหาสุขภาพของผู้ใช้งาน ด้วยการติดตั้งระบบกรองอากาศในตัวเครื่อง ซึ่งช่วยลดฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายและลดสารก่อภูมิแพ้ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ส่งผลให้ Dyson มีความแตกต่างขึ้นมาในตลาดเพราะสามารถไปตอบ Pain Points ของลูกค้าที่พบเจอเรื่องฝุ่นฟุ้งกระจายจนส่งผลต่อสุขภาพได้ จึงส่งผลให้ Dyson กลายเป็นผู้นำที่ผู้บริโภคจดจำได้ทันทีในเรื่องคุณภาพและนวัตกรรม
3. สื่อสารให้แตกต่างและสร้าง Impact
ในตลาดที่มีตัวเลือกมากมายให้ผู้บริโภค ธุรกิจที่สามารถเข้าใจ Insight ของลูกค้า จะมีข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งอย่างชัดเจน และที่สำคัญต้องมีกลยุทธ์การตลาดที่สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำเสนอฟีเจอร์ของสินค้า บอกเล่าเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกและปัญหาของลูกค้า และสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าที่แท้จริงของแบรนด์อย่างลึกซึ้งและน่าจดจำ นอกจากนี้ การใช้ Social Media เพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ เพราะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า เพิ่มความไว้วางใจในแบรนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น ที่นอนแบรนด์ Lunio พบว่าคนไทยนอนหลับไม่มีคุณภาพ เพราะความเครียดสะสมและที่นอนรองรับสรีระได้ไม่ดี จนเกิดอาการปวดหลังและมีความร้อนสะสม ทางแบรนด์จึงได้ทำที่นอนที่ตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้
จากนั้นจึงใช้กลยุทธ์การตลาดสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเน้นย้ำกับลูกค้าว่า “Lunio's Technology ความสบายที่ รองรับสรีระเป็นเลิศ ที่นอนที่ระบายอากาศได้ในตัวเอง ไม่เป็นที่อยู่ของเชื้อรา และแบคทีเรีย รองรับกระดูกสันหลังได้ถูกต้องตามหลักสรีระของร่างกายตั้งแต่หัวจรดปลาย พร้อมความอัจริยะด้านการปรับสมดุลให้เกิดอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการนอนหลับอย่างแท้จริง” รวมไปถึงทำคอนเทนต์ด้วยการให้ Influencers มารีวิวที่นอนว่าสามารถแก้ปัญหาการนอนของคนไทยได้จริง ส่งผลให้แบรนด์ติดตลาดในไทย จนสามารถสร้างรายได้ 100 ล้านบาท ภายในปีเดียว
4. สร้าง Experience ที่ประทับใจให้กับลูกค้า
เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าหรือบริการจากเรา หากลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี ธุรกิจมีโอกาสที่จะเปลี่ยนลูกค้าขาจรให้กลายเป็นลูกค้าประจำได้ ดังนั้น ธุรกิจควรใส่ใจในทุกขั้นตอนของการให้บริการ เพื่อสร้างความรู้สึกที่แปลกใหม่และน่าจดจำให้กับลูกค้า เพราะเมื่อพวกเขาได้รับประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมาย จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ในระยะยาวของลูกค้ากับแบรนด์ เช่น ทำกลยุทธ์การตลาดผ่านการจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วม สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความประทับใจ พร้อมทั้งเสริมสร้างความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเช่น IKEA ที่สร้างความประทับใจให้ลูกค้าผ่านแนวคิด DIY เปิดโอกาสให้ลูกค้าประกอบเฟอร์นิเจอร์ด้วยตัวเอง ผ่านคู่มือที่เข้าใจง่าย ช่วยสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมและภูมิใจในสินค้า พร้อมจัดแสดงห้องตัวอย่างในโชว์รูม เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพการใช้งานจริง นอกจากนี้ยังให้บริการหลังการขาย เช่น นโยบายการคืนสินค้าแบบไม่ซับซ้อน และโปรแกรม IKEA Family ที่มอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ให้กับสมาชิก ทำให้แบรนด์ได้รับความไว้วางใจและส่งเสริมความภักดีในระยะยาว
ความแตกต่างทำให้ SMEs อยู่รอดได้ใน Red Ocean
unknown nodeแม้ว่าการแข่งขันในตลาด Red Ocean จะเป็นความท้าทายที่หนักหน่วง แต่ถ้าหากมีการสร้างกลยุทธ์การตลาดในการทำธุรกิจที่เหมาะสม SMEs ของไทยจะสามารถยืนหยัดและประสบความสำเร็จได้ การสร้างแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ การพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ การสื่อสารข้อความไปสู่ลูกค้าอย่างมีคุณภาพ และการสร้างประสบการณ์ที่ดี ล้วนเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความโดดเด่นในตลาดได้อย่างแน่นอน
ธุรกิจของคุณกำลังติดอยู่ในตลาด Red Ocean ที่เต็มไปด้วยคู่แข่งหรือเปล่า? ถ้าคุณกำลังมองหากลยุทธ์การตลาดที่สร้างความแตกต่างเพื่อเอาชนะความท้าทาย แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน Metier Thailand พร้อมช่วยคุณ!
ด้วยทีม Communication Strategy ผู้เชี่ยวชาญของเรา ที่สามารถมองเห็นโอกาสและกลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจน เพื่อพลิกโฉมให้ธุรกิจโดดเด่นเหนือใคร มาพูดคุยกับเราวันนี้ ที่ Facebook Metier Thailand หรือ อีเมล info@metierthailand.com