10 เหตุผล ที่ยุคนี้ธุรกิจควร Rebranding
ในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ทันสมัยและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเปลี่ยนภาพลักษณ์ หรือ Rebranding ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนโลโก้หรือการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ แต่เป็นการปรับปรุงในทุกมิติของธุรกิจ ตั้งแต่กลยุทธ์การตลาดไปจนถึงประสบการณ์ร่วมของธุรกิจกับของลูกค้า จึงจะเห็นได้ว่าแบรนด์ดัง ๆ มักจะมีการปรับปรุงภาพลักษณ์อยู่เสมอ
Metier Thailand อยากชวนคุณมาดู 10 เหตุผลหลักที่ทำให้ธุรกิจควรพิจารณาถึงการ Rebranding อย่างจริงจัง แต่ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การ Rebranding คืออะไร เพื่อให้การทำความเข้าใจเป็นไปได้ง่ายขึ้น
การ Rebranding คืออะไร ?
Rebranding หรือ การรีแบรนด์ คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงภาพลักษณ์ของแบรนด์หรือองค์กรในหลากหลายด้าน เช่น โลโก้ ชื่อแบรนด์ การออกรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ การปรับกลุ่มเป้าหมาย หรือการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การสื่อสาร (Content Marketing) เพื่อทำให้แบรนด์มีเอกลักษณ์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาดและตอบโจทย์ความต้องการได้ดีขึ้น ซึ่งภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป จะทำให้ความรู้สึกของผู้บริโภคที่มีให้กับแบรนด์นั้น ๆ เปลี่ยนไปด้วย นั่นแหละคือการ “Rebranding”
การ Rebranding มีกี่ประเภท ?
1. Partial Rebranding การปรับภาพลักษณ์ในบางส่วน ของแบรนด์ หรือเปลี่ยนเป้าหมายในการทำธุรกิจใหม่เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น เปลี่ยนโลโก้ แพ็กเกจผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ดูมีความทันสมัยเพิ่มมากขึ้น
2.Brand Overhaul การปรับภาพลักษณ์ “ทั้งหมด” ของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ กำหนดโทนสี CI Brand ใหม่ กำหนดกลยุทธ์หรือแผนการตลาด ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการเปลี่ยนชื่อแบรนด์ใหม่ด้วย ทั้งนี้การปรับแบรนด์ในรูปนี้เป็นรูปแบบที่ใช้เงินลงทุนเยอะและมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นคุณต้องวางแผนการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้รอบคอบที่สุด
10 เหตุผลที่ธุรกิจควร Rebranding
1. โลกเปลี่ยนไปแบรนด์ต้องเปลี่ยนตาม
การ Rebranding เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่รอดและเติบโตของแบรนด์ในยุคดิจิทัลที่ธุรกิจมีการแข่งขันที่สูง การปรับภาพลักษณ์ เช่น การออกแบบโลโก้ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย ไม่เพียงช่วยให้แบรนด์ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค แต่ยังสร้างความโดดเด่นจากคู่แข่ง เพิ่มความน่าสนใจ และเปิดโอกาสให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Facebook Page: Bun Bun บันบัน
ตัวอย่างเช่น การ Rebranding ของแบรนด์ Bun Bun ที่สะท้อนถึงความทันสมัยและการเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายในยุคใหม่ ผ่านการใช้กลยุทธ์การตลาดแอบแฝง (Stealth Marketing) โดยออกพรีเซนเตอร์ใหม่สุดน่ารักอย่าง “บันบันคุง” ที่ปรากฏตัวในหลากหลายกลุ่มสังคมออนไลน์ ทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังมีการอัปเดตแพ็กเกจใหม่ให้สดใสและทันสมัย จนดึงดูดให้ผู้คนอยากทดลองชิม ซึ่งสะท้อนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้อย่างดีเยี่ยม
2. เมื่อกลุ่มเป้าหมายเดิมไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป
เมื่อแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่สามารถตอบโจทย์กันและกัน ส่งผลให้แบรนด์โตช้าลง ถึงเวลาที่จะต้องปรับทิศทาง แทนที่จะพยายามเอาใจทุกคน ควรมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายใหม่และทำความเข้าใจถึงความต้องการอย่างลึกซึ้ง พร้อมปรับตัวตามความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้เข้าถึงและตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายใหม่อย่างแท้จริง
Facebook Page: Srichand ศรีจันทร์
ตัวอย่างเช่น แบรนด์เครื่องสำอางศรีจันทร์ ศรีจันทร์ถือว่าเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงในสมัยก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปผลิตภัณฑ์เริ่มไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค จนคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ทายาทรุ่นที่ 3 ได้เข้ามาบริหารและศึกษาหาความต้องการของตลาด ซึ่งภายหลังจากการ Rebranding กระแสการตอบรับของคนรุ่นใหม่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คนในกลุ่มวัยรุ่นรู้จักและอยากทดลองใช้มากขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีความทันสมัย วัยรุ่นสามารถหยิบมาใช้ได้โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะดูมีอายุ
3. โอกาสเติบโตที่มากขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น
การขยายฐานกลุ่มเป้าหมายเป็นอีกหนึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญเมื่อการแข่งขันทางธุรกิจทวีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะดีไซน์ใหม่ที่ดึงดูดลูกค้าได้กว้างขึ้น เช่น การออกแบบโลโก้ แพ็กเกจให้มีความทันสมัย หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีความทันสมัยมากขึ้น โดยการขยายฐานลูกค้าจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจได้
(ซ้าย) Facebook Page: Vitanatureplusunknown node
ตัวอย่างเช่น RS Group สร้างแบรนด์ใหม่ “ไวตาเนเจอร์พลัส” จากเดิมที่ RS เป็นผู้ผลิตสื่อแบบครบวงจรด้านความบันเทิงของไทย และได้รับการยอมรับในฐานะ Music Icon แห่งวงการเพลง แต่ในปัจจุบันบริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด บริษัทในเครือ อาร์เอส กรุ๊ป เล็งเห็นว่า คนรุ่นใหม่ก็หันมาใช้สมุนไพรมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรไทยกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
นำไปสู่การออกผลิตภัณฑ์ “ไวตาเนเจอร์พลัส” ที่เหมาะสำหรับกลุ่มคนยุคใหม่ที่มีเวลาน้อยและชอบสมุนไพร โดยเจาะกลุ่มฐานลูกค้าหลักของ RS Mall ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ที่เน้นเลือกซื้อสินค้าเรื่องสุขภาพ
4. เมื่อตัวตนแบรนด์ไม่เข้ากับยุคสมัยอีกต่อไป
หากแบรนด์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวมาเป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้แบรนด์ตกยุค และลูกค้าอาจซื้อสินค้าและบริการน้อยลง ธุรกิจจึงควรพิจารณา Rebranding ปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร วางกลยุทธ์การตลาด และปรับ Content Marketing ใหม่ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่เข้ากับยุคสมัย
ภาพที่มา (ซ้าย) / ภาพที่มา (ขวา)
ตัวอย่างเช่น Victoria’s Secret มีการรีแบรนด์ใหม่ ที่เน้นย้ำถึงความหลากหลายผ่านแคมเปญ "VS Collective" เพื่อลบภาพจำของนางฟ้าหุ่นผอมเพรียว ซึ่งเคยเป็นจุดขายหลักของแบรนด์มาก่อน โดยเปลี่ยนมาใช้นางแบบที่มีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ รูปร่าง อายุ และเพศ มาเดินแบบในงาน “The Victoria's Secret Fashion Show 2024” ที่ผ่านมา พร้อมทั้งปรับการตกแต่งร้านด้วยหุ่นโชว์ที่มีรูปร่างหลากหลายมากขึ้น
5. ภาพจำในแง่ลบของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์
ในหลาย ๆ กรณีการ Rebranding มีสาเหตุมาจากการที่ลูกค้ามีภาพจำในแง่ลบต่อแบรนด์ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น การบริการที่ไม่เป็นที่พอใจ คุณภาพสินค้าต่ำกว่าคาดหวัง หรือการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน
การ Rebranding จึงช่วยสร้างโอกาสในการแก้ไขและปรับปรุงภาพลักษณ์ ผลิตภัณฑ์ บริการ การสื่อสาร และการสร้างประสบการณ์ใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับลูกค้าอีกครั้งได้อย่างยั่งยืน
ตัวอย่างเช่น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด เคยมีเหตุการณ์ที่ผู้ใช้บริการแชร์คลิปบุรุษไปรษณีย์มักเขวี้ยงพัสดุเข้าบ้านผู้รับบริการ และยังเซ็นรับของเอง ภายหลังจากคลิปถูกเผยแพร่ออกไป ส่งผลให้ผู้ใช้บริการต่างออกมาแชร์ประสบการณ์ที่พบเจอคล้าย ๆ กัน ทั้งของหาย โดนแกะกล่อง ได้รับช้า ข้าวของเสียหาย
ไปรษณีย์ไทยจึงมีการพัฒนาภาพลักษณ์ใหม่ สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เริ่มจากการออกแถลงการณ์ขอโทษและแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ พร้อมทั้งปรับปรุงระบบตรวจสอบการจัดส่งพัสดุให้มีความโปร่งใสมากขึ้น เช่น ระบบติดตามพัสดุแบบเรียลไทม์และการรับเรื่องร้องเรียนที่สะดวกรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังจัดอบรมพนักงานเพื่อเพิ่มความตระหนักในความรับผิดชอบ และเปิดตัวแคมเปญประชาสัมพันธ์ที่เน้นภาพลักษณ์ใหม่ของบริการที่รวดเร็ว ใส่ใจ และโปร่งใส เพื่อสะท้อนถึงความตั้งใจในการปรับปรุงองค์กรเพื่อให้กลับมาได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้บริการอีกครั้ง
6. การเปลี่ยนผู้นำใหม่
การมีผู้นำคนใหม่เข้ามารับช่วงต่อ มักนำพาแนวคิดและวิสัยทัศน์ใหม่ที่มุ่งขับเคลื่อนองค์กรสู่ความก้าวหน้า ซึ่งมักส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ขององค์กร ทั้งในระดับการออกแบบผลิตภัณฑ์ การสื่อสารแบรนด์ และการกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ที่แตกต่างจากเดิม เพื่อสร้างความแตกต่างและความได้เปรียบในการแข่งขัน
ตัวอย่างเช่น ยาอมตราตะขาบ มีการเปลี่ยนผู้นำใหม่เป็นทายาทรุ่นที่ 3 และได้เปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ใหม่ โดยมุ่งเน้นพัฒนาองค์กรด้วยการผสมผสานนวัตกรรมเข้ากับคุณค่าดั้งเดิมของแบรนด์ โดยการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย เช่น การเปิดตัวยาแก้ไอในรูปแบบสเปรย์ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังใช้กลยุทธ์การสื่อสารผ่านภาพยนตร์โฆษณาที่สะท้อนความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงระหว่างคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ เพื่อสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยเน้นย้ำถึงประสิทธิภาพที่เป็นมิตรต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีการขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าต่างชาติ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับ
7. การควบรวมกิจการ
การ Rebranding ภายใต้บริบทของการควบรวมกิจการ เป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกัน โดยมุ่งเน้นการหลอมรวมวัฒนธรรมองค์กร วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมาย ของทั้งสองบริษัทให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงนี้อาจครอบคลุมไปชื่อแบรนด์ โลโก้ ภาพลักษณ์ การสื่อสาร การปรับเปลี่ยนรายละเอียดในทางกฎหมาย โครงสร้างภายใน และทิศทางเชิงกลยุทธ์ของแบรนด์ด้วย เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ใหม่และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาด
ที่มาโลโก้ Makro / ที่มาโลโก้ Lotus
ตัวอย่างเช่น อาณาจักร CPAXT ผู้นำค้าส่งและค้าปลีกในเอเชีย โดยมีแบรนด์หลักคือ
"Makro" และ "Lotus’s" ซึ่งในปี 2564 กลุ่มซีพีได้ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยให้กิจการของโลตัสมาอยู่ภายใต้การบริหารของแม็คโคร มีพันธกิจคือ "การเป็นผู้นำค้าส่ง-ค้าปลีกอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย” และมีวัตถุประสงค์เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารธุรกิจ โดยลดความซับซ้อนของโครงสร้างการถือหุ้นและโครงสร้างองค์กรภายในกลุ่ม CPAXT
ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกิจการและการบริหารทรัพยากร และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการรวมธุรกิจ ตลอดจนสร้างโอกาสในการเติบโตของกลุ่ม CPAXT ในอนาคต
8. แบรนด์ยังไม่ใช่ตัวเลือกแรกในใจลูกค้า
เมื่อแบรนด์คู่แข่งขายผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันในตลาดและมีการทำการตลาดเพื่อสร้างภาพจำที่ดีกว่า ทำให้แบรนด์ของเราไม่ใช่ตัวเลือกแรกในใจผู้บริโภค การรีแบรนด์จึงอาจเป็นทางออกเพื่อสร้างความโดดเด่นและความเกี่ยวข้องใหม่ในตลาด ให้มีความเชื่อมั่นและดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคอีกครั้ง ในกรณีที่แบรนด์ยังมีความแข็งแกร่งในตลาด การปรับเปลี่ยนแบรนด์ใหม่จึงควรยึดถือกลุ่มเป้าหมายเป็นศูนย์กลาง สร้างความแตกต่างและสื่อสารเหตุผลที่ผู้บริโภคควรเลือกแบรนด์ของเรา
ตัวอย่างเช่น รองเท้า Converse แม้จะไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกที่นึกถึงเมื่อพูดถึงรองเท้าผ้าใบ แต่แบรนด์ได้สร้างความสำเร็จด้วยการเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นตัวตนและวัฒนธรรมย่อย ผ่านการเล่าเรื่องราวที่โดนใจ เช่น รองเท้ารุ่น Chuck Taylor All Star ซึ่งได้รับความนิยมในกลุ่มนักดนตรี พังก์ร็อก และฮิปฮอป ที่บ่งบอกถึงเสรีภาพที่ไม่ยอมตามกระแส จึงใช้รองเท้านี้เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออก ในช่วง ปี 1960-70
นอกจากนี้ Converse ยังสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านการสนับสนุนศิลปินอิสระและกลุ่มคนในวัฒนธรรมย่อย เช่น การจัดกิจกรรมสนับสนุนดนตรีและศิลปะบนกำแพง (Graffiti) เป็นต้น พร้อมดีไซน์ที่หลากหลาย ร่วมสมัย แม้จะต้องแข่งขันกับ Nike หรือ Vans แต่ Converse ยังคงรักษาตำแหน่งด้วยกลยุทธ์ที่เน้นความแตกต่างและความผูกพันกับลูกค้าได้เป็นอย่างดี
9. ภาพลักษณ์ที่กลืนไปกับคู่แข่งในตลาด
ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่คล้ายกันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อแบรนด์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันมีการนำเสนอสิ่งต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงกัน เช่น ดีไซน์ โลโก้ สีสัน หรือกลยุทธ์การสื่อสาร ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถแยกความแตกต่างของแบรนด์ได้ชัดเจน การ Rebranding จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและช่วยลดความเสี่ยงทางกฎหมาย
ตัวอย่างเช่น Pepsi และ Coca-Cola มีภาพลักษณ์ที่คล้ายคลึงกันในฐานะแบรนด์น้ำอัดลม โดย Pepsi ต้องการสร้างความโดดเด่นจึงเลือกใช้กลยุทธ์การ Rebranding ให้ภาพลักษณ์ทันสมัยและเน้นการเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ผ่านแคมเปญ “Pepsi Generation ซ่าทุกยุค...ไม่มีเปลี่ยน” เพื่อสื่อถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้มาเป็นมาส่วนหนึ่งในการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ไปพร้อม ๆ กัน
10. ขยายแบรนด์สู่ตลาดต่างประเทศ
หากแบรนด์มีเป้าหมายที่จะขยายแบรนด์ไปสู่ตลาดต่างประเทศ การใช้ชื่อหรือโลโก้ที่เข้าใจยากในตลาดอาจเป็นอุปสรรคให้กับแบรนด์ได้ ซึ่งในบางกรณีอาจรวมไปถึงการที่ต้องดูข้อกำหนดและข้อจำกัดทางด้านกฎหมายร่วมด้วย ดังนั้นจึงความพิจารณาการ Rebranding เพื่อสร้างเอกลักษณ์ประจำตัวที่จดจำง่าย โดดเด่น มีความเป็นสากล และเหมาะกับแนวนิยมของแต่ละพื้นที่
ตัวอย่างเช่น Starbucks มีความมุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจสู่ตลาดนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกาแฟระดับโลก จึงได้ทำการ Rebranding ในปี 2011 โดยมีการปรับโลโก้ ตัดคำว่า "Starbucks Coffee" ออก เหลือเพียงภาพนางเงือก เพื่อให้สื่อถึงความหลากหลายของสินค้า เช่น ชาและน้ำผลไม้ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความชื่นชอบของผู้บริโภคในท้องถิ่นมากขึ้น
การ Rebranding กลยุทธ์ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจในยุคปัจจุบัน
การ Rebranding จึงถือว่าเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก โดยมีเป้าหมายหลักคือ “การสร้างความแตกต่าง” เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคและรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม ผ่านการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบต่าง ๆ ของแบรนด์ ตั้งแต่โลโก้ กลยุทธ์การสื่อสาร ไปจนถึงประสบการณ์ของลูกค้า เพื่อให้แบรนด์ยังคงมีความน่าสนใจและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
หากคุณรู้สึกว่าแบรนด์ของคุณเริ่มไม่ตอบโจทย์ยุคสมัย และกำลังมองหาทางปรับภาพลักษณ์ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร Metier Thailand พร้อมช่วยคุณ! ติดต่อเราเพื่อปรึกษากับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดที่จะช่วยวิเคราะห์และออกแบบการ Rebranding ให้เหมาะสมกับแบรนด์คุณ พร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการของธุรกิจ
พูดคุยกับเราได้ที่ Facebook Metier Thailand หรือ อีเมล info@metierthailand.com